การพัฒนาเมือง เป็นเครื่องมือทางนโยบายที่สำคัญของประเทศ (Engine of Growth) ที่จะยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายศูนย์กลางความเจริญ เพื่อตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ตามเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับของสากล โดยเป้าหมายร่วมของการพัฒนาเมืองในบริบทประเทศไทย คือ การพัฒนาเมืองในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่น่าอยู่ ตลอดจนสถาการณ์ปัจจุบันเมืองและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จนนำมาซี่งมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซประเภทต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดสภาวะเรือนกระจก
อย่างไรก็ดีแม้ว่าเมืองโคราชจะเป็นพื้นที่เมืองยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของการกระจายศูนย์กลางความเจริญสู่ภูมิภาค ด้วยปัจจัยโครงการระดับอภิมหาโปรเจค (Mega Project) โครงการเหล่านี้ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเป็นเมืองให้กับเมืองโคราชเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จำนวนประชากร การพัฒนาพื้นที่และการขยายตัวเชิงพื้นที่มีแนวโน้มของการเติบโตอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) และไร้แบบแผนของการพัฒนาแบบองค์รวม และเมืองโคราชมีแนวโน้มของการเติบโตเป็นปัจจัยสำคัญของของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในการปลดปล่อยก๊าซต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลต่อชาวเมืองเอง และอาจมีโอกาสขยายผลกระทบแบบวงกว้างมากขึ้นในอนาคต แต่พื้นฐานความรู้ด้านการพัฒนาเมืองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวเมือง ยังถือเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและไกลตัว
ดังนั้นเพื่อพัฒนาเมืองโคราชอย่างก้าวกระโดด การรวบรวมความรู้ด้านการพัฒนาเมือง เมืองคาร์บอนต่ำการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนบทบาทที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบของชาวเมืองและหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำที่เข้าใจง่าย และเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวไปสู่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องถือเรื่องที่มีความสำคัญ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้สนใจศึกษา เรื่อง “การยกระดับความรู้ด้านการพัฒนาเมืองของชาวโคราชสู่การมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่” ซึ่งเป็นโครงการย่อยที่ 3 (ใน 3) ของชุดโครงการ เรื่อง “ต้นแบบระบบนิเวศเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ กรณีศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะเมืองโคราช” โดยมีคำถามของงานวิจัย คือ 1) หลังการอบรมชาวโคราชและผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองโคราชมีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง เมืองคาร์บอนต่ำ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบทบาทของชาวเมืองและหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและนักลงทุนต่อการพัฒนาเมืองสูงกว่าก่อนอบรมหรือไม่ และ 2) ร่างแผนพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่แบบมีส่วนร่วมเป็นอย่างไร โดยการวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นกระบวนการสื่อสารเพื่อยกระดับความรู้ และเชื่อมโยงบทบาทของบุคลากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบองค์รวมเพื่อพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ อันถือเป็นกลไกการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับนโยบายชาติและนานาชาติ