EV Ecology

การพัฒนาเมือง เป็นเครื่องมือทางนโยบายที่สำคัญของประเทศ (Engine of Growth) ที่จะยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายศูนย์กลางความเจริญ เพื่อตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ตามเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับของสากล โดยเป้าหมายร่วมของการพัฒนาเมืองในบริบทประเทศไทย คือ การพัฒนาเมืองในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) ตลอดจนสถานการณ์ปัจจุบันเมืองและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นำไปสู่การค้นหาแนวคิดและระเบียบวิธีการพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืน

แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ COP27 หรือ UNFCCC COP (United Nations Framework Convention of Climate Change Conference of the Parties) การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 ตลอดจนการพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ขับเคลื่อนการพัฒนาเข้าสู่ยุค 4.0 ทั้งนี้ประเทศไทย ยังได้เกิดนโยบายการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S-Curve ไว้ ซึ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือเมืองชาญฉลาด เป็นประเด็นย่อยของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านดิจิทัล

ปัจจุบันได้มีการวิจัยเชิงประจักษ์พบว่ากิจกรรมภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเมืองเป็นปัจจัยหลักของการปล่อยก๊าซที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกขึ้น ดังนั้นแนวคิดของการพัฒนาเมืองคาร์บอนและสังคมคาร์บอน (Low Carbon City & Society) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน (Livable City & SDGs Development) เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับแนวทางการพัฒนาเมืองเพื่อนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดเพื่อเข้าสู่ระดับศูนย์ได้อย่างเป็นระบบ

แม้ว่าตลอดระยะเวลา 3-5 ปี ที่ผ่านจะมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวข้องกับสถานการณ์เรือนกระจกของจังหวัดนครราชสีมา แต่จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ยังไม่มีกรอบงานศึกษาเกี่ยวข้องกับการวางแผน ประเมินและติดตามอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสู่ความเป็นเมืองและสังคมคาร์บอน หรือการสร้างเครื่องมือและการสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์คาร์บอนของการพัฒนาเมืองโคราชและจังหวัดนครราชสีมา และเครื่องมือหรือวิธีการประเมินการเกิดคาร์บอนจากกิจกรรมต่าง ๆ (Carbon Footprint) ที่ส่งผลต่อการเกิดสภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในเมือง ตลอดจนการสื่อสารรายละเอียดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เรือนกระจก ความสำคัญของการมีส่วนร่วมสู่ความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และการมีส่วนร่วมการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ การรับทราบวิธีการ บทบาทการมีส่วนร่วม และมาตรการจูงใจในการมีส่วนร่วมของชาวเมืองอย่างเป็นระบบ

โดยการศึกษาระดับเมืองใช้กรอบแนวคิดของ Ministry of Energy Green Technology and Water (KeTTHA)[1] 4 องค์ประกอบ (มี 15 เกณฑ์ประเมิน 41 ตัวชี้วัด) 1) ด้านสิ่งแวดล้อมเมือง 2) ระบบคมนาคมเมือง    3) ด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และ 4) ด้านอาคาร มีการออกแบบและวิธีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ตลอดจนมีการประเมินระดับค่าคาร์บอนของเมืองเพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของเมืองในกรณีศึกษาเมืองโคราช  การทบทวนวรรณกรรมของเมืองคาร์บอนต่ำ มี 4 องค์ประกอบ พบว่า องค์ประกอบสำคัญ คือ ภาคคมนาคมขนส่ง ดังนั้นการต่อยอดประเด็นวิจัยจากที่ได้รับสนับสนุนจาก บพท.ปีงบประมาณ 2565 คือ การทดสอบการวิ่ง EV ในภาคขนส่งสาธารณะ ตลอดจนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการขยายจำนวน EV ด้วยกิจกรรม EV Replacement โดยมีการตอบรับจากจังหวัดนครราชสีมาประกาศเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่เมืองและจังหวัดสู่ความเป็น Korat EV City

ปัจจุบันตลาด EV และการพัฒนาระบบนิเวศกับโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการระดับประเทศไทย เพื่อส่งผลต่อการตัดสินใจใช้ EV ในภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ HIS Markit, McKinsey Analysis (อ้างใน BangkokPost) ได้วิเคราะห์ว่าประเทศไทยมีแนวโน้มจะกลายเป็นกลุ่มประเทศไทยแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียต่อการเตรียมความพร้อมของนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้มีการเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจนถึง ค.ศ.2030

ภาพการวิเคราะห์คาดการณ์โอกาสการเติบโตของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชีย

โดย HIS Markit, McKinsey Analysis อ้างใน BangkokPost

https://www.bangkokpost.com/auto/news/2396726/growing-asias-ev-ecosystem

ดังนั้นการพยายามค้นหาแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศ EV กรณีศึกษาตันแบบนำร่องด้านบริการสาธารณะที่สามารถมองเห็นและสัมผัสประสบการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานเชิงนิเวศส่งเสริมความเป็นเมืองอัจฉริยะของเมืองโคราช และก่อเกิดผลลัพธ์และผลกระทบในวงกว้าง ตลอดจนการเกิดปฏิสัมพันธ์ที่สร้างมูลค่า (Network Effect) ส่งเสริมระบบนิเวศเมืองอัจฉริยะ และสามารถนำไปสู่การกำหนดแผนพัฒนาเมืองกับบริการสาธารณะ โดยใช้ระบบการจัดการข้อมูลเมืองเป็นฐานสำหรับกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม (Deliberative Planning) ท่ามกลางภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองโคราช และสามารถเรียนรู้ในการประเมินสถานะของเมืองโคราชร่วมกัน เพื่อการกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย แผนงานและโครงการ กับการลงทุนที่เกี่ยวข้องการบริการสาธารณะในระดับเชิงพื้นที่เมืองให้นำไปสู่ความเป็นเมืองที่น่าอยู่และชาญฉลาด สอดคล้องดังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 ในหมุดหมายที่ 8 ว่าไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน


[1] อ้างอิงแหล่งข้อมูล https://www.lccf.my/wp-content/uploads/2018/10/LCCF_Book-Version-2-2017.pdf เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565