การพัฒนาเมือง เป็นเครื่องมือทางนโยบายที่สำคัญของประเทศ (Engine of Growth) ที่จะยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายศูนย์กลางความเจริญ เพื่อตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ตามเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับของสากล โดยเป้าหมายร่วมของการพัฒนาเมืองในบริบทประเทศไทย คือ การพัฒนาเมืองในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) ตลอดจนสถานการณ์ปัจจุบันเมืองและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นำไปสู่การค้นหาแนวคิดและระเบียบวิธีการพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืน
แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ COP27 หรือ UNFCCC COP (United Nations Framework Convention of Climate Change Conference of the Parties) การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 ตลอดจนการพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ขับเคลื่อนการพัฒนาเข้าสู่ยุค 4.0 ทั้งนี้ประเทศไทย ยังได้เกิดนโยบายการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S-Curve ไว้ ซึ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือเมืองชาญฉลาด เป็นประเด็นย่อยของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านดิจิทัล
เมืองที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City) เป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืน สามารถนำไปสู่การสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเมือง ระหว่างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ (Key Stakeholder) และผู้รับประโยชน์ (People/Citizen) ที่นำไปสู่ 1) กลไกแผนและนโยบาย 2) กลไกการลงทุน และ 3) กลไกการเรียนรู้และประเมินเมือง และสามารถพัฒนาและยกระดับการให้บริการสาธารณะของเมือง (City Services) โดยมีพื้นฐานกระบวนการมีส่วนร่วมดังกล่าวมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลของระบบข้อมูลเมืองที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Feedback Loop) ตลอดจนสามารถก่อเกิดกลไกการสร้างแผนการพัฒนาเมืองด้านการบริการสาธารณะและการลงทุนที่สอดคล้องกับดัชนีเมืองน่าอยู่และเมืองที่ชาญฉลาด
การทบทวนวรรณกรรมของเมืองอัจฉริยะ มี 7 องค์ประกอบสำหรับประเทศไทย อย่างไรก็ดีในงานวิจัยจาก บพท. พบว่า องค์ประกอบสำคัญ คือ ระบบข้อมูลเปิด และ City Data Dashboard ที่สามารถมีระบบ API ทั้งนี้ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยสนับสนุนคณะวิจัยฯ จาก บพท. ปีงบประมาณ 2563 และ 2565 ได้สามารถจัดตั้งศูนย์วิทยาการสารสนเทศและการพัฒนาเมือง (CUID : Center of Urban Informatics and Development) และระบบข้อมูลเปิด (CKAN Open-D) ตามมาตรฐานระดับประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สามารถเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและยกระดับระบบการจัดการข้อมูลของเมืองสอดคล้องกับ 7 องค์ประกอบเมืองอัจฉริยะที่กำหนดโดยสำนักงานส่งเสริเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับเมืองโคราชได้
ดังนั้นการพยายามพัฒนาและยกระดับระบบการจัดการข้อมูลเมืองโคราชสู่เมืองที่น่าอยู่และชาญฉลาด สามารถนำไปสู่การเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานเชิงนิเวศส่งเสริมความเป็นเมืองอัจฉริยะของเมืองโคราช และก่อเกิดผลลัพธ์และผลกระทบในวงกว้าง ตลอดจนการเกิดปฏิสัมพันธ์ที่สร้างมูลค่า (Network Effect) ส่งเสริมระบบนิเวศเมืองอัจฉริยะ และสามารถนำไปสู่การกำหนดแผนพัฒนาเมืองกับบริการสาธารณะ โดยใช้ระบบการจัดการข้อมูลเมืองเป็นฐานสำหรับกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม (Deliberative Planning) ท่ามกลางภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองโคราช และสามารถเรียนรู้ในการประเมินสถานะของเมืองโคราชร่วมกัน เพื่อการกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย แผนงานและโครงการ กับการลงทุนที่เกี่ยวข้องการบริการสาธารณะในระดับเชิงพื้นที่เมืองให้นำไปสู่ความเป็นเมืองที่น่าอยู่และชาญฉลาด สอดคล้องดังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 ในหมุดหมายที่ 8 ว่าไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน